พันธุ์พืชป่า (Wild Plants)
สถานภาพของพืชป่าในประเทศไทย
สหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature and Natural Resources - ICUN) ซึ่งเป็นองค์กรด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้สรุปหลักเกณฑ์ในการจัดแบ่งสถานภาพของพรรณพืชไว้ดังนี้
- พืชที่พบมาก (common plants)
- พืชถิ่นเดียว (endemic plants)
- พืชหายาก (rare plants)
- พืชที่มีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์ (vulnerable plants)
- พืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (endangered plants)
- พืชที่สูญพันธุ์ (extinct plants)
พืชถิ่นเดียว (Endermic Plants)
หมายถึงพืชที่มีการแพร่กระจายพันธุ์ค่อนข้างจำกัดในบริเวณเขตภูมิศาสตร์เขตใดเขตหนึ่งของโลก ซึ่งมักจะขึ้นในระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น กุหลาบขาวเชียงดาว (Rhododendron ludwigianum) พบที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ชมพูภูคา (Bretschneidera sinensis) พบเฉพาะดอยภูคา จังหวัดน่าน และโมกราชินี (Wrightia sirikitae) พบที่จังหวัดสระบุรี และนครสวรรค์
พืชหายาก (Rare Plants)
หมายถึงพืชที่มีประชากรขนาดเล็กแต่ยังไม่จัดเป็นพืชใกล้สูญพันธุ์ แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้พืชชนิดนี้ลดจำนวนลงอย่างถาวร พืชถิ่นเดียวหลายชนิดจัดเป็นพืชนายากด้วย เช่นเหยื่อจง (Impatiens kerriae) พิมพ์ใจ (Lucilia gratissima) เทียนนกแก้ว (Impatians psittacina) กำปองหลวง (Clematis buchananiana)
พืชที่มีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์ (Vulnerable Plants)
หมายถึงพืชที่มีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้ ถ้าสาเหตุที่ทำให้ประชากรของพืชชนิดนี้ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่องยังมีต่อไป ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากถิ่นอาศัยตามธรรมชาติลดลง หรือการนำออกจากถิ่นอาศัยตามธรรมชาติลดลง หรือการนำออกจากถิ่นอาศัยตามธรรมชาติเพื่อการค้าเป็นจำนวนมาก เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พืชหลายชนิดลดจำนวนลงอย่างมาก กล้วยไม้พื้นเมืองของไทยหลายชนิดที่มีแนวโน้มจะสูญพันธุ์ เช่น รองเท้านารีปีกแมลงปอ (Paphiopedilum sukhakuluii) รองเท้านารีดอกขาว (Paphiopedilum niveum) ช้างกระ (Rhynchostylis gigantea) เอื้องฟ้ามุ่ย (Vanda coerulea) เอื้องแซะหลวง (Dendrobium scbrilingue) เป็นต้น
พืชที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Plants)
หมายถึงพืชที่ลดจำนวนประชากรลงอย่างต่อเนื่องถึงขั้นวิกฤติที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งโอกาสที่จะอยู่รอดต่อไปมีน้อยมาก ถ้าปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการลดจำนวนลงยังคงเกิดต่อไป ตัวอย่างได้แก่ เฟิร์นว่าน หางนกยูงแคระ (Antrophyum winitii) มีเพียงพันธุ์ไม้ต้นแบบที่เก็บจากจังหวัดเชียงราย หมากพระราหู (Mexburretia lurtadoana) พืชเฉพาะถิ่นพบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพลับพลึงธาร (Crinum thaianum) เป็นพืชน้ำที่ขึ้นเฉพาะบริเวณที่มีน้ำใสสะอาดไหลผ่าน พบที่จังหวัดระนองซึ่งสภาพแวดล้อมกำลังถูกทำลายไปเกือบจะสิ้นเชิง จึงเสี่ยงต่อภาวะสูญพันธุ์เป็นอย่างมาก
พืชที่สูญพันธุ์ไปแล้ว (Extinct Plants)
หมายถึงพืชที่ได้สูญพันธุ์ไปจากถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของโลก หลังจากที่ได้มีการค้นหาซ้ำหลายครั้ง จากแหล่งที่ระบุว่ามีพืชชนิดนี้ขึ้นอยู่ เช่น Damrongia purpureolineata Kerr ซึ่ง Dr. Kerr เป็นผู้ค้นพบและตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ สมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ ไม้ชนิดนี้เป็นไม้เฉพาะถิ่นพบที่แก่งแม่ปิง แถบบ้านก้อในที่สูง195เมตรแหล่งเดียวในโลกเท่านั้น ต่อมาเมื่อมีการสร้างเขื่อนภูมิพลแล้วก็ยังไม่เคยพบพันธุ์ไม้ชนิดนี้อีกเลย และคาดว่าคงจะสูญพันธุ์ไปแล้ว
อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นแหล่งที่พบซากดึกดำบรรพ์ของ Alnus thaiensis และ Sparganium thaiensis พืชทั้งสองชนิดนี้เป็นพืชที่พบในเขตอบอุ่น สาเหตุที่ทำให้พืชสองชนิดนี้สูญพันธุ์อาจเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างกระทันหันทำให้พืชล้มตายไปและสูญพันธุ์ (extinct) ไปจากโลก
ข้อมูลจาก: เอกสารเผยแพร่ของสถานีวิจัยพืชสมุนไพรและเครื่องเทศจังหวัดแม่ฮ่องสอน
อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่า และพืชป่า ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Conclusion of the Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora : CITES)
จากการประชุมของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และด้านทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature and Natural Resources : IUCN) ไ้ด้มีการจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อจัดระเบียบการส่งออก เคลื่อนย้าย และนำเข้าซึ่งชนิด พันธุ์ป่า หรือหนัง และสิ่งประดิษฐ์ที่ทำขึ้นจากชนิดพันธุ์ป่าที่หายาก หรือถูกคุกคาม และได้มีการเสนอบัญชี รายชื่อ ชนิดพันธุ์สัตว์ป่า และพืชป่าที่ควรควบคุมขึ้น บัญชีของอนุสัญญามีด้วยกัน 3 บัญชี คือ
บัญชีหมายเลข 1 เป็นชนิดพันธุ์สัตว์ป่า และพืชป่าที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาดเนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิัจัย หรือเพาะพันธุ์ ตัวอย่างของประเทศไทยได้แก่ กระทิง จระเข้ ช้าง เสือโคร่ง แรด หมีควาย สมเสร็จ เต่า และนกหลายชนิด กล้วยไม้หายากหลายชนิด
บัญชีหมายเลข 2 เป็นชนิดพันธุ์สัตว์ป่า และพืชป่าที่ยังไม่ถึงกับใกล้สูญพันธุ์จึงยังอนุญาตให้ค้าได้ แต่ประเทศที่ส่งออกต้องออกใบอนุญาต และรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้งจะไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้นๆ ในประเทศไทย ตัวอย่างได้แก่ ค้างคาวแม่ไก่หลายชนิด ลิืง ค่าง นกหลายชนิด งูหลายชนิด นาก โลมา พืชประเภทหม้อข้าวหม้อแกงลิง กล้วยไม้หลายชนิด
บัญชีหมายเลข 3 ชนิดพันธุ์สัตว์ป่า และพืชป่าที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่ ง แล้วขอความร่วมมือ ประเทศภาคีสมาชิก ให้ช่วยดูแลการนำเข้า คือต้องมีการออกหนังสือรับรองการส่งออกจากประเทศถิ่นกำเนิด
หน่วยงานที่รับผิดชอบในประเทศไทย
1. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้่อม
2. กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
3. กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
4. กรมประมง กระทรวงเกษตร และสหกรณ์
ข้อมูลจาก: เอกสารเผยแพร่ของสถานีวิจัยพืชสมุนไพรและเครื่องเทศจังหวัดแม่ฮ่องสอน