สถานีวิจัยพืชสมุนไพรและเครื่องเทศจังหวัดแม่ฮ่องสอน

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสถานี
1. อนุรักษ์และคุ้มครองแหล่งพันธุ์พืชป่าภายในพื้นที่อนุรักษ์ให้คงอยู่
2. ฟื้นฟูสภาพป่า และพันธุ์พืชให้สมบูรณ์ตามธรรมชาติ
3. จัดการ และพัฒนาพันธุ์พืช มีค่า หายาก ใกล้สูญพันธุ์ เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
4. ให้บริการด้านข้อมูลวิชาการ และการตรวจรับรองชนิดพันธุ์พืชป่า
5. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์
ขอบเขตที่ตั้งของสถานี
สถานีวิจัยพืชสมุนไพรและเครื่องเทศจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ปายฝั่งขวาตอนล่าง ท้องที่ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ระดับความสูง 520 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ลักษณะพื้นที่
เป็นพื้นที่เนินเขา และภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน ประมาณร้อยละ 95 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยร้อยละ 80 มีความลาดชันมากกว่า 35 เปอร์เซนต์ เทือกเขาส่วนใหญ่มีลักษณะทอดยาวไปในแนวเหนือใต้ มีความต่างระดับของพื้นที่ประมาณ 1,200 เมตร จุดสูงสุดที่ 1,600 เมตร และจุดต่ำสุดที่ 400 เมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนพื้นที่ราบมีค่อนข้างน้อย ประมาณ ร้อยละ 5 ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนใหญ่ปรากฏเป็นแนวแคบๆ ระหว่างหุบเขา และสองฝั่งลำน้ำ
ลักษณะทางธรณีวิทยา และปฐพีวิทยา
จากแผนที่ธรณีวิทยาบ่งชี้ว่าชนิดของหินท้องที่อำเภอเมือง และอำเภอปางมะผ้า มี 2 ยุคหิน คือยุคแรก หินยุคเปอร์เมียน ประกอบด้วย หินปูน หินดินดาน และหินทราย ยุคที่สองคือหินยุคคาร์บอนิเฟอรัส ประกอบด้วย หินปูน หินดินดาน หินทราย และหินเอิร์ต ลักษณะของดินพบว่า เป็นดินร่วนมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง เนืองจากมีอินทรียวัตถุอยู่ในระดับ 1.12-7.91 เปอร์เซนต์ มีการระบายน้ำดี
ลักษณะทางภูมิอากาศ
จากข้อมูลสถานีอุตุนิยมวิทยา จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่า ค่าอุณหภูมิสูงสุด อยู่ในเดือนพฤษภาคม ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 43 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด ในเดือนมกราคม ที่ 7 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีเฉลี่ยที่ 1290 มิลลิเมตร เดือนที่ฝนตกมากที่สุด เดือนสิงหาคม น้อยที่สุด เืิดือนมกราคม ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยต่อปีที่ 88.6 เปอร์เซนต์
ลักษณะทางเศรษฐกิจ และสังคม
ประชากรในท้องที่ประกอบด้วยชนชาติหลายเผ่าพันธุ์ มีขนบธรรมเนียม ประเพณีหลากหลาย อาทิ ชาวไทยใหญ่ ชาวละหู่ (มูเซอ) กะเหรี่ยง ลีซอ และม้ง ประชากรส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม ชนิดพืชที่ปลูกมาก ได้แก่ ข้าวนา ข้าวไร่ ข้าวโพด งา ถั่วเหลือง และกระเทียม